ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ปีการศึกษา 2562 ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา นอกจากบัณฑิตและผู้ร่วมในพิธีทุกคนจะต้องผ่านมาตรการของมหาวิทยาลัย เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การสวมหน้ากากอนามัย และ การล้างมือให้สะอาด เป็นต้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก จึงเกิดมาตรการยกระดับความปลอดภัยด้านใบปริญญาบัตรมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรดังกล่าว โดยทำการอบฆ่าเชื้อปกและใบปริญญาบัตรด้วย “เครื่องอบความร้อนฆ่าเชื้อและเครื่องอบยูวี” (Hot Air Oven for Sanitizing Equipment and UV Light Oven) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เครื่องอบความร้อนฆ่าเชื้อจำนวน 2 เครื่องถูกออกแบบโดยดัดแปลงจาก “เครื่องอบแดดเดียวระบบลมร้อนสำหรับเนื้อสัตว์ที่มีความชื้นสูง” ซึ่งเป็นนวัตรรมที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นปีที่ 6 โดย ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.วรัทยา ธรรมกิตติภพ ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรเครื่องอบแดดเดียว เวอร์ชั่น 6 โดยเป็นอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า มีจุดเด่น คือ มีความจุสูงแต่ยังคงสามารถกระจายความร้อนได้อย่างรวดเร็วสม่ำเสมอและทั่วถึงเช่นเดียวกับเครื่องอบแดดเดียว เวอร์ชั่น 4 ที่เป็นเวอร์ชั่นที่ยังได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการขายปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวผ่านโครงการพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
ผศ.ดร.คุณยุต และ รศ.ดร.วรัทยา เผยว่า “เครื่องอบความร้อนสามารถอบปกและใบปริญญาบัตรได้รอบละ 200 ปก โดยการทำงานของเครื่องเริ่มจากการดึงความร้อนออกจากอุปกรณ์กำเนิดความร้อนมาสู่อากาศภายในเครื่องอบ เพื่อให้อากาศอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสหมุนเวียนอยู่ในเครื่องเป็นเวลา 30 นาทีต่อ 1 รอบการอบ โดยเครื่องอบฯ สามารถกระจายความร้อนได้ทั่วถึงปกและใบปริญญาบัตรทุกใบ ภายหลังจากผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำปกและใบปริญญาบัตรเหล่านั้นมาพักให้คลายตัวและทำการแพ็คลงในถุงพลาสติกที่ได้รับการอบฆ่าเชื้อมาก่อน โดยทำการบรรจุปกและใบปริญญาบัตรลงในถุงพลาสติกแพ็คละ 20 ปก แล้วจึงอบปกและใบปริญญาบัตรทั้งแพ็คอีกครั้งหนึ่งด้วยเครื่องอบยูวีซี (Ultraviolet C: UVC) รอบละ 160 ปก เป็นเวลา 30 นาทีต่อ 1 รอบการอบ รวมจำนวนปกและใบปริญญาบัตรที่อบฆ่าเชื้อและอบยูวีซี ทั้งหมด 15,371 ใบ ใช้เวลาในการอบฆ่าเชื้อรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563
การอบฆ่าเชื้อดังกล่าว ได้ดำเนินการในห้องที่มีการฆ่าเชื้อจากการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ และตรวจสอบปกและใบปริญญาบัตรโดยทำการทดลอง 100 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินการโดย ผศ.ดร. เยาวภา อร่ามศิริรุจิเวทย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ด้วยการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี Spread Plate Technique และตรวจสอบซ้ำสองครั้ง (Double-check) ในเรื่องการปลอดเชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ นับเป็นการยกระดับความสะอาดของปกและใบปริญญาบัตร รวมทั้งเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยและสุขอนามัยของตัวบัณฑิตและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19”
สำหรับการอบฆ่าเชื้อ-อบยูวี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้กำหนดผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจน โดยต้องผ่านการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนปฏิบัติงานทุกคน และต้องอบฆ่าเชื้อเสื้อผ้าที่สวมใส่รวมทั้งหน้ากากอนามัยก่อนใช้งานทุกครั้ง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนปฏิบัติงาน อบฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อนดำเนินการทุกวัน ฉีดพ่นห้องปฏิบัติการและรักษาความสะอาดตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
การอบฆ่าเชื้อ-อบยูวีใบปริญญาบัตร จากการนำนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงเพื่อเพิ่มประโยชน์การใช้งานให้มากขึ้น นับเป็นหนึ่งนวัตกรรมที่ยกระดับความปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใด้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก สร้างความมั่นใจให้กับบัณฑิตและผู้ที่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรปีนี้ได้เป็นอย่างดี
จากมาตรการการยกระดับความปลอดภัยด้วยเครื่องอบฆ่าเชื้อและเครื่องอบยูวีในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มก. ปีการศึกษา 2562 ได้เป็นที่ประจักษ์และสร้างความเชื่อมั่น เป็นที่ยอมรับในสังคม ในการนี้ มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ จ.ชลบุรี ได้ขอความอนุเคราะห์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอเข้าศึกษาดูงานเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการฆ่าเชื้อบนปริญญาบัตร ทั้งนี้ได้ขอให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการในขั้นตอนทำความสะอาดและอบฆ่าเชื้อใบปริญญาบัตรจำนวน 2,000 ใบ เพื่อให้ทันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563 นี้ และอีกหนึ่งสถาบันคือ สถาบันวิทยสิริเมธี จังหวัดระยอง ได้ขอความอนุเคราะห์ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อใบปริญญาบัตร จำนวน 30 ใบ เพื่อให้ทันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นี้ เช่นเดียวกัน
ภาพประกอบ: สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์