อาจารย์วิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 ระดับดีมาก วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

อาจารย์วิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 ระดับดีมาก วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

อาจารย์วิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ:

รางวัลผลงานวิจัย ประจำปี 2566 ระดับดีมาก

วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566

 

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2566 (Thailand Inventors’ Day 2023) และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานเกียรติบัตร ในพิธีที่จัดขึ้น ณ เวทีกลาง EVENT HALL 101 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

โดยในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีผู้ได้รับรางวัล ได้แก่

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ: รางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2566 ระดับดีมาก จากผลงานการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์นาโนอิเล็กทรอนิกส์และพลาสมาเย็นโดยอาศัยหลักการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนพลังงานสูงและการทำปฏิกิริยาในระดับนาโน พร้อมกันนี้ยังได้รับเชิญให้นำผลงานพลาสมาเย็นจากการคายประจุไฟฟ้าอิเล็กตรอนและการทำปฏิกิริยาในระดับนาโน” เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน “วันนักประดิษฐ์”ในกลุ่มนวัตกรรมสีเขียว

ผลงานพลาสมาเย็นจากการคายประจุไฟฟ้าอิเล็กตรอนและการทำปฏิกิริยาในระดับนาโน เป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและประยุกต์ใช้งานพลาสมาเย็นในรูปแบบของก๊าซและของเหลวที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนภายใต้สนามไฟฟ้าแรงสูงในระดับนาโนมิเตอร์ ทำให้สามารถสร้างพลาสมาเย็นที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องอาศัยระบบสุญญากาศและใช้พลังงานต่ำ รวมทั้งสามารถรองรับการขยายขนาดให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานจริงสำหรับการเกษตรและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงพื้นผิววัสดุ การกำจัดเชื้อรา การกำจัดแบคทีเรีย การกำจัดไวรัส การสังเคราะห์วัสดุ การทำแห้งวัสดุ

ส่วนหนึ่งในผลงานวิจัยนี้ได้บูรณาการศาสตร์งานวิจัยระหว่างด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านโรคพืช โดยการนำพลาสมาเย็นแบบ Electrohydraulic Streamer Discharge Plasma มากำจัดเชื้อราที่มีความแข็งแรงมาก เช่น เชื้อ Alternaria Brassicicola ที่ทำให้เกิดโรคกับพืชตระกูลผักกาด และยังสามารถเร่งการงอกและเพิ่มความแข็งแรงให้กับเมล็ดพันธุ์ได้อีกด้วย

พลาสมาเย็นแบบ Electrohydraulic Streamer Discharge เป็นการผสมผสานพลาสมาเย็นแบบสตรีมเมอร์ (Streamer Discharge plasma (SDP)) และกระบวนการกระตุ้นน้ำด้วยพลาสมา (Plasma activated water, PAW)  ให้เกิดขึ้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างอากาศและของเหลวในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราและแบคทีเรียที่เหนือกว่าการใช้พลาสมาเย็นทั่วไปโดยที่กระบวนการนี้จะใช้พลังงานต่ำและไม่ต้องใช้ระบบสุญญากาศ   ทำให้มีศักยภาพในการนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลายและครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตรและการแพทย์

นอกจากนี้ นวัตกรรมเทคโนโลยีพลาสมาเย็น ยังสามารถใช้ในกระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรนำไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติมและไม่ทิ้งสารพิษตกค้างใด ๆ ในกระบวนการทำงาน มีความปลอดภัยในการใช้งานทั้งกับผู้ปฏิบัติการรวมถึงสภาพแวดล้อม

เทคโนโลยีพลาสมาเย็น จึงนับเป็นเทคโนโลยีสีเขียวหรือเทคโนโลยีสะอาดที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยังช่วยลดปริมาณและมูลค่าในการนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้อีกด้วย

  

  

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวพล ศรีสนพันธุ์ ร่วมถ่ายภาพกับทีมงานร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานพลาสมาเย็นจากการคายประจุไฟฟ้าและการทำปฏิกิริยาในระดับนาโน ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี พ.ศ.2566 จัดโดยสภาวิจัยแห่งชาติ  ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ  ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ทีมงานประกอบด้วย ดร.สวิตา สุวรรณรัตน์ อาจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เทพหริรักษ์ นางสาวธัญภัค รุ่งแสงชัยเจริญ และนายคมสัน เรืองวงศ์

6,813 Views
ข้ามไปยังทูลบาร์