ความสุขใจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทย ที่รวมพลังกัน ทั้งนักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์ ภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยทีมแพทย์พยาบาลจากการแพร่กระจายของเชื้อ ผ่านผลงานวิจัย ออกแบบและ สร้างห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ณ กองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย
ห้องตรวจผู้ป่วยฯ นี้ ออกแบบตามข้อกำหนดล่าสุดของ ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating and Air Conditioning Engineers) 170-2021 ตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยเลือกใช้ และเป็นห้องตรวจผู้ป่วยฯ แห่งแรกที่ใช้ในกองกุมารเวชกรรม สำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 18 ปี
จุดเด่นของห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่
– ผศ.ดร. ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้นำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาใช้ประยุกต์ในการออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศทางการแพทย์ และหลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) ตามข้อกำหนดล่าสุดของ ASHRAE 170-2021 ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความดัน และอัตราหมุนเวียนของอากาศ รวมถึงการนำอากาศบริสุทธิ์ (Fresh Air) 100% มาใช้ในห้องตรวจผู้ป่วยฯ
-ห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่นี้ ผ่านการตรวจสอบ และการทดสอบประสิทธิภาพ (Performance Testing) การใช้งานของห้องฯ ตามมาตรฐานห้องสะอาดและสภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุม (ISO14644: Cleanrooms and Associated Controlled Environments) จึงสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานตรวจผู้ป่วย รวมถึงการลดโอกาสการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ติดเชื้อไปยังผู้เกี่ยวข้อง
-คณะผู้ร่วมดำเนินโครงการ (บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด) เป็นองค์กรชั้นนำในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างห้องสะอาดในโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมการแพทย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระบบบริหารงานคุณภาพสำหรับเครื่องมือแพทย์ (ISO13485 : Quality Management System for Medical Devices) และระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO9001: Quality Management System) และผู้บริหารองค์กรนี้ยังได้รับใบรับรองการออกแบบห้องทางการแพทย์ (ASHRAE-Certified, Healthcare Facility Design Professional) เป็นคนแรกของประเทศไทย
– ห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ประกอบด้วย ห้องพักคอย (Ante-Room) และห้องตรวจผู้ป่วย (Examination Room) ที่มีการควบคุมความดันภายในห้องเป็น -5 และ -10 Pa ตามลำดับ ซึ่งออกแบบให้ช่องจ่ายลมนำอากาศบริสุทธิ์ 100% มาใช้และมีทิศทางการไหลผ่านบริเวณปฎิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไปยังเตียงผู้ป่วย และไหลออกผ่านช่องระบายลมออกสู่ภายนอก โดยมีการติดตั้งแผ่นกรองอากาศ (High Efficiency Particulate Air Filter, HEPA) ที่สามารถดักจับอนุภาคที่มีขนาด 0.3 ไมครอนหรือใหญ่กว่า ได้ถึง 99.97% ตาม US Standard MIL-STD-282
ผนึกกำลัง 3 ภาคส่วน ร่วมทีมงานวิจัย
บุคลากรจาก 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีมแพทย์จากหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก รพ.พระมงกุฏเกล้า และทีมวิศวกรจากบริษัทวินด์ชิลล์ บริษัทชั้นนำที่ออกแบบและติดตั้งห้องปลอดเชื้อ ได้ร่วมกันวิจัย ออกแบบ สร้างห้องตรวจ แห่งนี้ขึ้น ด้วยความมุ่งหวัง ที่จะให้เป็นห้องต้นแบบ ป้องกันโรคติดเชื้อทางอากาศ และโรคอุบัติใหม่ รวมถึงมุ่งหวังให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ PMK-KUENG ที่ดำเนินการตามหลักวิศวกรรมปรับอากาศทางการแพทย์ และได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในการดำเนินการโครงการ ได้รับการสนับสนุน งบประมาณภายใต้โครงการวิศวฯ ร่วมต้านภัย COVID-19 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มก. รวม 7 แสนบาท และบริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด 1.4 ล้านบาท รวมงบดำเนินการ 2.1 ล้านบาท
การใช้ประโยชน์จริงของ รพ.
“กองกุมารเวชกรรม รพ.พระมงกุฏเกล้า ได้เปิดใช้ห้องตรวจฯ นี้ มาแล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ เฉลี่ยวันละ 5-10 ราย ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อในสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 และสร้างความมั่นใจแก่บุคลากรทางการแพทย์” พ.อ.ผศ.เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าว
แหล่งเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริงของนิสิตวิศวฯ มก.
การวิจัยพัฒนาห้องตรวจดังกล่าวมีนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในระดับปริญญาตรี-โท คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมดำเนินการงานวิจัยและพัฒนาในส่วนของการออกแบบและติดตั้งระบบปรับอากาศ การระบายอากาศ ของห้องตรวจฯ ที่ควบคุมอุณหภูมิความชื้น ความดัน และอัตราการหมุนเวียนอากาศ รวมถึงการใช้หลักพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) ในการช่วยในการออกแบบระบบฯ และการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบฯ
ห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่นับเป็นความร่วมมือที่ร่วมกันทำประโยชน์เพื่อสังคมโดยแท้จริง โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. และบริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด และหน่วยงานได้เตรียมประสานความร่วมมือกับ รพ.พระมงกุฎเกล้า ในการบำรุงรักษา ห้องตรวจฯ ให้สามารถใช้งานได้ตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง รวมถีงความร่วมมือในการวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ และวิศวกรรม
ศาสตร์ ร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
ขอขอบคุณผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
รพ.พระมงกุฎเกล้า
พลตรี สุรศักดิ์ ถนัดศีลธรรม ผู้อำนวยการ รพ.
พ.อ. เรืองวิทย์ ตันติแพทยางกูร ผอ.กกว.รพ.รร.6
พ.อ.ผศ. เดชวิจิตร์ สุวรรณภักดี หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อเด็ก
และคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่จากกองกุมารเวชกรรม
ที่ปรึกษาโครงการ
พลเอก มหศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อดีตผู้บัญชาการวิทยาลัยการทัพบก
คุณสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช นายกสมาคมแห่งวิทยาลัยการทัพบก
บริษัท วินด์ชิลล์ จำกัด
คุณเผชิญ แสงบุษราคัม
คุณวรเสน ลีวัฒนกิจ
กรรมการผู้จัดการ
สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มก.
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มก.
ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ รอดขวัญ หัวหน้าโครงการ
ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าภาควิชา
รศ.ดร.วีรชัย ชัยวรพฤกษ์ ผู้ร่วมโครงการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.
รศ.ดร.พีรยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล คณบดี
ศ.ดร.วันชัย ยอดสุดใจ รองคณบดีฝ่ายวิจัย
รศ.ณัฐวุฒิ ขวัญแก้ว รองคณบดีฝ่ายสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมและอุตสาหกรรม
ขอขอบคุณข่าวจากสื่อมวลชน
VOICE -TV. NEWS ONLINE ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรฯ ร่วมกับ ภาคเอกชน ออกแบบและสร้างห้องตรวจผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางอากาศและโรคอุบัติใหม่ ตามข้อกำหนด ASHRAE 170-2021 สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ใช้ตรวจผู้ป่วยสำหรับเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 18 ปี ตั้งอยู่ที่ กองกุมารเวชกรรม ชั้น 2 อาคารพัชรกิติยาภา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า – VOICE -TV. NEWS ONLINE