ผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ดุลย์พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีดาพงศ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.อมรรัตน์ เลิศวรสิริกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการและคณะทำงานจัดทำหลักสูตร ผศ.ดร.คเณศ คัจฉสุวรรณมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและความร่วมมืออุตสาหกรรม และ รศ.ดร.วรดร วัฒนพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคณะทำงานจัดทำหลักสูตร เข้าประชุมหารือการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Sandbox) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Bachelor of Engineering Program in Semiconductor Engineering) ร่วมกับ รศ.ดร.อภิสิฏฐ์ ศงสะเสน รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประธานในการประชุม รศ.ดร.ศรีจิตรา เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผศ.นันทวุฒิ ศรีอริยวัฒน์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ผศ.ดร.ชัยพร ใจแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษา และผู้บริหารจากคณะวิทยาศาสตร์ บางเขน และผู้บริหารและอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุม 310A อาคารจุฬาภรณ์ ชั้น 3 คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Sandbox) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อตอบสนองความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมถึงการที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะสูง และเพื่อให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศและดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ จึงจำเป็นต้องเร่งเปิดรับนิสิตเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสถานประกอบการ เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ
หลักสูตร Sandbox ดังกล่าวอยู่ภายใต้การร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 14 แห่ง ผนวกกับเครือข่ายบริษัทเอกชนชั้นนำของไทยในอุตสาหกรรม Semiconductor และ Advanced Electronics ด้วยเป้าหมายเพื่อปรับเสริมกำลังคนให้ตรงตามความต้องการในอุตสาหกรรม Semiconductor และ Advanced Electronics ทั้งระยะสั้น (เร่งด่วน) ระยะกลาง และระยะยาว มุ่งเน้นพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนี้ ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 : โปรแกรมสหกิจแบบพิเศษ (COOP+) เพื่อตอบสนองความต้องการระยะสั้น (เร่งด่วน) และระยะที่ 2 : หลักสูตร Higher Education Sandbox เพื่อตอบสนองความต้องการ กำลังคนระยะกลางและระยะยาว
ภายหลังการประชุมหารือดังกล่าว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้วางแนวทางการเปิดรับนิสิตสาขาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นแรกในปีการศึกษา 2568 โดยคณะวิศวฯ จะเปิดรับนักเรียนผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า เข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยเปิดรับแขนงการออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Fabrication) จำนวน 30 คน