เมื่อพูดถึงอากาศยานไร้นักบินหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ยูเอวี (UAV : Unmanned Aerial Vehicle) มีหลายคนนึกถึงเครื่องบินขนาดเล็กที่บินอยู่บนท้องฟ้าเพื่อถ่ายภาพมุมสูง บ้างก็นึกถึงเครื่องบินผาดโผนขนาดเล็กเพื่อความสนุก แต่นั่นเป็นเพียงคุณสมบัติอย่างหนึ่งของ UAV ซึ่งภารกิจหลายอย่างสำคัญที่ทำได้และเป็นประโยชน์ในการทำงานสำหรับหลายหน่วยงาน
จากความสามารถของ UAV ที่เป็นได้มากกว่าภารกิจการบินบนท้องฟ้า ส่งผลให้อาจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาและสร้างระบบอากาศยานไร้นักบินที่สามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการบินบนท้องฟ้าเพื่อความสนุกสนานเพียงเท่านั้น
“การพัฒนาระบบอากาศยานไร้นักบินของภาควิชาฯ เริ่มมาจากแนวความคิดการนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aero Space Engineering) มาใช้งานให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเพื่อช่วยพัฒนาศาสตร์ด้านการบินของประเทศ ซึ่งปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. นับเป็นหน่วยงานเดียวที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบอากาศยานอัตโนมัติไปสู่การใช้งานจริงได้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่ใช้ประโยชน์ด้านการบิน เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ได้นำอากาศยานไร้นักบินใช้งานในการสำรวจสัตว์ป่า การตรวจตราการเกิดไฟป่า การรุกล้ำพื้นที่ของผู้ก่อการร้าย ตลอดจนการรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ปลอดภัยจากการถูกทำร้ายจากสัตว์ป่า หรือ การลักลอบล่าสัตว์ป่าอีกด้วย หรือกรมประมงที่ได้ทดสอบการใช้งานในการลาดตระเวนสำรวจพื้นที่และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (Illegal Unreported and Unregulated (IUU) Fishing) เป็นต้น” อาจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวถึงประโยชน์ของ UAV ที่ได้พัฒนาขึ้น
นอกจากสองหน่วยงานที่ได้กล่าวไปแล้ว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำระบบอากาศยานที่พัฒนาให้สามารถบินสูงจากพื้นดินประมาณ 2 หมื่นฟุต เพื่อการตรวจสภาวะอากาศชั้นบนก่อนและหลังการทำฝนหลวงเพื่อเก็บค่าการตรวจสภาพอากาศและทดสอบรวมถึงการปรับแก้ไขต่างๆ จนสามารถเทียบเคียงได้กับบอลลูนตรวจสภาพอากาศที่ปกติกรมฝนหลวงและการบินเกษตรใช้ในการตรวจสภาพอากาศ ซึ่งการตรวจสภาพอากาศโดยอากาศยานไร้นักบินช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้บอลลูนในการตรวจอากาศได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ยามาฮ่า ประเทศไทย (จำกัด) ในการนำอากาศยานไร้นักบินใช้ในด้านการเกษตรอีกด้วย
“การพัฒนาระบบอากาศยานไร้นักบิน คือเป็นการเปลี่ยนจากการเป็นผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว (endusers) มาเป็นผู้พัฒนาเพื่อใช้งานจริง โดยสามารถแก้ไข พัฒนา และปรับปุรงให้อากาศยานมีความเหมาะสมกับการใช้งานอย่างแท้จริง การพัฒนาระบบสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานที่สูงขึ้นในรูปแบบของซอฟต์แวร์ เช่น การเก็บข้อมูล การวัดและประมวลผลข้อมูลแบบทันท่วงที (Real time) การควบคุมอัตโนมัติที่มีความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบประสานการทำงานระหว่างผู้ใช้กับอากาศยาน เป็นต้น
ในการพัฒนาระบบเริ่มจากการหาข้อมูลว่าผู้ใช้ต้องการอะไรและกลั่นกรองออกมาเป็นคุณสมบัติทางวิศวกรรม (Specification Requirements) เช่น ผู้ใช้ต้องการใช้งานแผนที่ เราต้องพัฒนาระบบที่สามารถบอกพิกัดได้อย่างแม่นยำ รวมถึงต้องทราบว่าใช้งานที่ไหน เช่น เครื่องบินต้องบินได้นานแค่ไหน สภาพอากาศเป็นอย่างไร และต้องมีการควบคุมอัตโนมัติแบบไหน ระบบขับดันอย่างไร รวมไปถึงโครงสร้างของเครื่องบินต้องรูปแบบใด ซึ่งในภาพรวมมีความซับซ้อนในการออกแบบ เนื่องจากมีทั้งเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ โครางสร้างแอร์โรไดนามิกซ์ ระบบควบคุม และระบบต่างๆ ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาและสร้างอากาศยาน คือ ต้องเป็นระบบอากาศยานอัตโนมัติที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ดังตัวอย่างความสำเร็จที่ทำมาอยู่อย่างต่อเนื่อง” อาจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย