ENG KU NEWS

วันพุธที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ข่าวล่าสุด :
คณะวิศวฯ ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะวนศาสตร์ มก. ครบรอบ 88 ปีอาจารย์คณะวิศวฯ-คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นำเสนอผลงานในการประชุม Sino-Thai Symposium on Energy and New Materialsผู้บริหาร-อาจารย์คณะ หารือความร่วมมือด้านวิจัย-วิชาการ กับ Tamkang University, Taiwanผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ หารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ ณ National Tsing Hua University (NTHU) ไต้หวันผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ หารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ กับ Tunghai University ไต้หวันร่วมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ กับ MCUT ไต้หวัน  ผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ ร่วมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการกับผู้บริหาร Yuan Ze University, Taiwanอาจารย์คณะได้รับอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเงินประจำตำแหน่งสูงขึ้น (ศ.11)อาจารย์คณะได้รับอนุมัติแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิสิตวิศวกรรมไฟฟ้า คว้า 3 รางวัล การแข่งขัน 5MSPP 2024 ชนะเลิศ-รองชนะเลิศอันดับ 1-ชมเชย

หุ่นยนต์สร้างงานศิลปะภาพวาด ผลงานอาจารย์ นิสิต วิศวฯ มก. คว้าที่ 2 จาก 38 ทีมทั่วโลก

หุ่นยนต์สร้างงานศิลปะภาพวาด ผลงานอาจารย์ นิสิต วิศวฯ มก. คว้าที่ 2 จาก 38 ทีม ทั่วโลก ในการประกวด Robot Art 2017 สหรัฐอเมริกา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข นายจันทร์ อัญญะโพธิ์ นิสิตปริญญาเอก และนายนิพันธ์
สุรพงษ์ นิสิตปริญญาโท จากห้องปฏิบัติการวิจัย CMIT Haptics & Robotics Lab ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ในนามทีม CMIT ReArt นำหุ่นยนต์สร้างสรรค์ศิลปะภาพวาดที่ได้พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการรับรู้แรงสัมผัส (Haptics) ให้มีความฉลาดสามารถเก็บข้อมูล ทักษะการทำงาน และการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล คว้ารางวัลอันดับ 2 และเงินรางวัล 25,000 USDในการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับนานาชาติโรบอท อาร์ต หรือ Robot Art 2017 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการพิจารณาจากคะแนนโหวตจากทั่วโลกในสัดส่วน 40%และการตัดสินจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ และเทคโนโลยีในสัดส่วน 60%

การแข่งขันดังกล่าวมีทีมผู้เข้าแข่งขันจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 38 ทีม เช่น ทีมสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และมหาวิทยาลัยโคลัมเบียจากสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยฮาล์มสตัด จากสวีเดน มหาวิทยาลัยคอนสแตนซ์ จากเยอรมนี รวมถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นเพียงทีมเดียวจากประเทศไทย เป็นต้น โดยมีผลงานสร้างสรรค์ที่ร่วมการแข่งขันครั้งนี้ร่วม 200 ผลงาน

      “ในการแข่งขันครั้งนี้ ทางทีมได้พัฒนาออกแบบสร้างหุ่นยนต์ เดลตาโรบอท (Delta Robot) และระบบการควบคุมสำหรับช่วยเหลือ การทำงานมนุษย์ ซึ่งมีจุดเด่น คือ การใช้เทคโนโลยีการรับรู้แรงสัมผัส หรือ แฮปติกส์ (Haptics) ในการส่งผ่านข้อมูลแรงสัมผัส และตำแหน่งของศิลปิน สามารถเก็บบันทึกทักษะการทำงานของคนเป็นไฟล์ดิจิทัลที่ตั้งชื่อว่าแฮปติกส์ไฟล์ (Haptics file) ออกมาและเล่นซ้ำได้”

     ระบบดังกล่าวเป็นการรวมข้อดีของ มนุษย์และหุ่นยนต์เข้าไว้ด้วยกันได้ ข้อดีของมนุษย์ คือ มีทักษะและประสบการณ์ในการทำงาน ศิลปินรู้ว่าต้องวาดภาพด้วยการตวัดปลายพู่กันด้วยแรงเป็นเท่าใด จึงจะได้ภาพออกมาสวยงาม แต่มีข้อเสียคือ คุณภาพของงานขึ้นกับอารมณ์ และมีความเหนื่อย เมื่อยล้า สำหรับหุ่นยนต์มีข้อดีคือ สามารถทำงานได้ถูกต้องแม่นยำสูง ทำงานซ้ำๆ ได้ดี แต่หุ่นยนต์ไม่มีทักษะการทำงาน ไม่รู้ว่าต้องลงน้ำหนักที่ปลายพู่กันเท่าไหร่จึงจะวาดภาพออกมาได้สวยงาม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทีมจึงได้พัฒนาระบบควบคุมหุ่นยนต์ ด้วยเทคโนโลยีการประมวลผล การรับรู้แรงสัมผัส (Haptic Processing) ทำให้หุ่นยนต์สามารถเลียนแบบทักษะการทำงานของมนุษย์ได้ และทำงานซ้ำๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังสามารถประมวลผลการทำงานของหุ่นยนต์ให้มีความรวดเร็วกว่าคนได้ 2 – 3 เท่า และนำไปวิเคราะห์ทักษะการทำงานที่ดีของมนุษย์ได้อีกด้วย

ในการแข่งขัน แต่ละทีมจะต้องส่งผลงานในรูปแบบคลิปวิดีโอการสร้างสรรค์งานศิลปะของหุ่นยนต์ ผ่านเว็บไซต์ https://robotart.org/ โดยหุ่นยนต์จะต้องใช้พู่กันติดตั้งที่ปลายแขนหุ่นยนต์ ห้ามใช้ เทคโนโลยีการพิมพ์ และใช้สีได้ 8 สีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทระหว่างการวาดภาพสามารถนำสีมาผสมกันเพื่อสร้างสีใหม่ออกมาได้ทใช้เวลาได้ไม่จำกัด โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วมมี 2 ประเภทด้วยกันคือ ทำซ้ำผลงานเดิมที่มีอยู่แล้ว (Re-interpreted Artwork) และสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคใหม่ (Original Artwork)” ผศ.ดร.เชาวลิตและสมาชิกทีม CMIT ReArt อธิบาย

ผลงานที่ทีม CMIT ReArt ได้ส่งเข้าร่วมการแข่งขัน มี 2 ภาพ ที่จัดอยู่ในประเภทสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคใหม่ คือ ภาพ Bohr Model เป็นการอธิบายแบบจำลองอะตอมของ นีลส์ บอร์ (Neils Bohr) และภาพ Record ซึ่งเป็นภาพแผ่นเสียง โดยเพิ่มจานหมุนเพื่อช่วยในการวาดรูปให้กลมได้ง่ายขึ้นมากกว่าภาพวาดที่ศิลปินเคยทำมาก่อน

นอกเหนือจาก 2 ภาพที่ทีมได้ส่งเข้าร่วมประกวดแล้ว ทีม CMIT ReArt ยังได้ให้หุ่นยนต์เดลตาโรบอทวาดภาพอีก 3 ภาพที่อยู่ในประเภทการทำซ้ำผลงานเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ ภาพ King Bhumibol Adulyadej ซึ่งมีต้นแบบจากเหรียญ 5 บาทของไทย ภาพ Portrait ของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) และภาพวาดราตรีประดับดาว (The Starry night) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent van Gogh) หรือที่คนไทยคุ้นในชื่อ วินเซนต์ แวน โก๊ะ

ในการเลือกภาพที่จะให้หุ่นยนต์วาดนั้น ผศ.ดร.เชาวลิต เผยว่า ได้เลือกจากบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต โดยภาพแรกที่วาด คือภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และภาพต่อมา คือภาพของสตีฟ จ็อบส์ ผู้เป็นเป็นนวัตกรชั้นนำของโลกและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนสร้างนวัตกรรมรวมถึงบุคคลทั่วไป  ภาพที่วาดยากและซับซ้อนที่สุดคือ ภาพ “ราตรีประดับดาว”เพราะต้องผสมสีระหว่างการวาดและไล่สีเป็นชั้นหลายๆ ชั้นด้วยกัน โดยใช้สีขาว แดง เหลือง ดำ เขียว และน้ำเงิน และระหว่างการระบายสีได้ผสมสีใหม่ขึ้น เช่น สีเหลืองอ่อน ฟ้าอ่อน และน้ำตาล โดยใช้พู่กันเบอร์ 1 มาติดตั้งที่หุ่นยนต์ ซึ่งใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง 50 นาที ขนาดแฮปติกส์ไฟล์ขนาด 3.563 กิกะไบต์

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้คือ ทีม PIX18/ Creative Machines Lab จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (http://www.creativemachineslab.com/) และรางวัลที่ 3 คือ ทีม CloudPainter

(http://www.cloudpainter.com/) ซึ่งทั้งสองทีมมาจากสหรัฐอเมริกาเน้นการประยุกต์ใช้อัลกอริทึม Deep learning เป็นหลักในการวาดภาพศิลปะ นอกจากนี้ในปี 2018 ทางทีม CMIT ReArt ได้รับเชิญให้ไป

จัดแสดงนิทรรศการ Robotic-created artwork ที่ Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เหตุผลที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันนี้เพราะว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เข้าถึงเด็กๆ ได้ง่ายที่สุด สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนิสิต นักเรียนและเด็กๆ ให้อยากมาทำงานวิจัย และพัฒนาในสายงานหุ่นยนต์มากขึ้น

 

ในอนาคต นอกจากความสามารถด้านการสร้างสรรค์ศิลปะของหุ่นยนต์ที่ทีมได้พัฒนาขึ้นมาแล้ว ทางทีมวิจัยยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกของหุ่นยนต์และระบบควบคุมช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์โดยออกแบบเพื่อให้สามารถนำหุ่นยนต์ไปใช้งานด้านอื่นๆ ได้ เช่น งานด้านอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งการทำงานด้านการแพทย์ต่อไป”ผศ.ดร.เชาวลิต กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานการพัฒนาหุ่นยนต์ของคนไทยที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดในโลก เราคงจะได้เห็นหุ่นยนต์ที่นอกเหนือจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันงดงามได้แล้ว ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ที่เกิดจากฝีมือคนไทยในอนาคตอันใกล้นี้…

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับเรา

ข่าวล่าสุด

ติดตามเราได้ที่