ENG KU NEWS

วันอังคารที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2566
ข่าวล่าสุด :
นิสิตวิศวฯ เครื่องกล-วิศวฯ วัสดุ คว้ารางวัลชนะเลิศ แผนรณรงค์ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในสถานศึกษา Toyota Campus Challenge 2023วิศวฯ ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ อัลเตอร์วิม ร่วมวิจัย-พัฒนาขีดความสามารถเชิงธุรกิจ ด้านพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานคณะวิศวฯ ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาคณะวนศาสตร์ มก. ครบรอบ 88 ปีอาจารย์คณะวิศวฯ-คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ นำเสนอผลงานในการประชุม Sino-Thai Symposium on Energy and New Materialsผู้บริหาร-อาจารย์คณะ หารือความร่วมมือด้านวิจัย-วิชาการ กับ Tamkang University, Taiwanผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ หารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ ณ National Tsing Hua University (NTHU) ไต้หวันผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ หารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ กับ Tunghai University ไต้หวันร่วมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ กับ MCUT ไต้หวัน  ผู้บริหาร-อาจารย์ คณะวิศวฯ ร่วมหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการกับผู้บริหาร Yuan Ze University, Taiwanอาจารย์คณะได้รับอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเงินประจำตำแหน่งสูงขึ้น (ศ.11)

วิศวฯ ที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตั้งกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดง ครั้งแรกของไทย

วิศวฯ ที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตั้งกล้องตรวจจับรถฝ่าไฟแดง ครั้งแรกของไทย

ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 2552 เป็นต้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีการติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร (Red Light Camera) ใน 30 ทางแยกสำคัญและมีปริมาณการจราจรสูงสุดทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจจับและบันทึกภาพผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร นับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการนำนวัตกรรมนี้มาใช้งาน นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระงานของตำรวจจราจรที่ต้องปฏิบัติงานบนท้องถนนแล้ว ยังช่วยลดปริมาณอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามทางแยกต่างๆ ได้ด้วย โดยหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ในฐานะที่ปรึกษาโครงการดังกล่าว คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รองศาสตราจารย์เรืออากาศเอกพิพัฒน์ สอนวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ในการดำเนินงานครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในวงเงินว่าจ้าง 4.5 ล้านบาท ให้คัดเลือกระบบการทำงาน รวมทั้งจัดหา ทดสอบ รวมถึงตรวจสอบการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ในการตรวจจับและบันทึกภาพยานพาหนะบนท้องถนน โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2548-2551

ก่อนที่จะมีการนำกล้องตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรมาใช้งานจริงนั้น คณะทำงานได้ลงพื้นที่เพื่อทำการทดสอบความแม่นยำของระบบ โดยได้ทดลองติดตั้งระบบดังกล่าวที่แยกถนนศรีอยุธยา และนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของรถคันที่กระทำผิดกฎจราจร ผลปรากฏว่าการเทียบเคียงมีความถูกต้องในเกณฑ์ที่กำหนด โดยในการดำเนินงานระบบไฟฟ้าสื่อสารและระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า 2 ท่าน คือ อ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา และ ผศ.ศิริวัฒน์ พูนวศิน

สำหรับชุดอุปกรณ์ระบบตรวจจับการฝ่าฝืนไฟสัญญาจราจร ประกอบด้วย กล้องดิจิทัลสำหรับบันทึกภาพถ่าย ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับ (Sensor) และคอมพิวเตอร์ประมวลผล โดยเมื่อไฟสัญญาณจราจรเปลี่ยนเป็นสีแดง   ระบบเซ็นเซอร์จะเริ่มทำงาน หากมีการฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ระบบจะส่งข้อมูลไปยังกล้องดิจิทัลเพื่อทำการบันทึกภาพ หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จะทำการประมวลผลและส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์พร้อมรายละเอียดผ่านระบบสื่อสารโครงข่าย ADSL (Asynchronous Digital Subscriber Line) ไปยังศูนย์สั่งการและควบคุมการจราจร (บก.02) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลยานพาหนะที่ฝ่าฝืนที่สัญญาณไฟจราจร หลังจากตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการพิมพ์ใบสั่งและจัดส่งใบสั่งให้แก่ผู้กระทำผิดกฎจราจรทางไปรษณีย์ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด 3-5 วัน

หลังจากนั้นผู้กระทำผิดจะได้รับใบสั่งพร้อมกับภาพ 3 ภาพ คือ ภาพก่อนกระทำผิด ภาพขณะกระทำผิดและภาพเฉพาะทะเบียนรถ โดยในภาพจะปรากฏชื่อ สถานที่ วันเวลากระทำผิดและความเร็วของรถ หากผู้กระทำผิดไม่ไปจ่ายค่าเปรียบเทียบปรับภายในกำหนดเวลา คือ 7 วันหลังจากได้รับใบสั่ง ระบบจะส่งข้อมูลต่อไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อทำการระงับการต่อทะเบียนรถยนต์คันนั้น

โครงการระบบตรวจจับสัญญาณไฟจราจร นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการขับขี่โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์มาใช้งาน และประโยชน์อีกทางหนึ่ง คือ ลดการสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งเป็นการสร้างวินัยในการขับขี่รถยนต์ด้วย ” รศ.ร.อ.พิพัฒน์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจจับโดยกล้องตรวจจับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร หลังจากการเปิดใช้งานระบบได้ 1 สัปดาห์   (30 ธ.ค. 51 – 5 ม.ค. 52)   สามารถตรวจจับผู้กระทำผิดใน 30 ทางแยก ได้ทั้งหมดประมาณ 20,000 คัน โดยรถยนต์คันแรกที่กระทำผิดประเดิมระบบกล้องตรวจจับฝ่าฝืนสัญญาณไฟ เป็นรถแท็กซี่ โดยฝ่าฝืนสัญญาณไฟ บริเวณแยกอโศกสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษก

จากนี้ไป เราคงจะได้เห็นภาพผู้ขับขี่รถบนท้องถนนยืนเจรจากับตำรวจจราจรในเรื่องฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรกันน้อยลง และหากมีการติดตั้งระบบตรวจจับฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรครอบคลุมทุกทางแยก ผู้ที่ต้องข้ามถนนหนทางบ่อยๆ คงมีความมั่นใจในการก้าวข้ามถนนมากขึ้น เมื่อถึงสัญญาณไฟแดง รถยนต์จะหยุดเพื่อให้เรารถก้าวข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย……

ตำแหน่งทางแยกที่ทำการติดตั้งระบบตรวจจับรถยนต์ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร

  1. แยกรัชดา-ลาดพร้าว
  2. แยกบ้านม้า
  3. แยกคลองตัน
  4. แยกอโศกเพชร
  5. แยกวิทยุ-เพลินจิต
  6. แยกซังฮี้
  7. แยกพญาไท
  8. แยกโชคชัย 4
  9. แยกนิด้า
  10. แยกอุรุพงษ์
  11. แยกประดิพัทธ์
  12. แยกรัชดา-พระราม 4
  13. แยกลำสาลี
  14. แยกบ้านแขก
  15. แยกบางพลัด
  16. แยกนรินทร
  17. แยกราชประสงค์
  18. แยกอโศกสุขุมวิท
  19. แยกสาธร
  20. แยกตากสิน
  21. แยกโพธิ์แก้ว
  22. แยกพัฒนาการ-ตัดรามฯ 24
  23. แยกร่มเกล้า
  24. แยกศุลกากร
  25. แยกเหม่งจ๋าย
  26. แยกท่าพระ
  27. แยกประเวศ
  28. แยกอังรีดูนังค์
  29. แยกประชานุกูล
  30. แยกบางโพ

                  

 

                     

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับเรา

ข่าวล่าสุด

ติดตามเราได้ที่