อาจารย์คณะร่วมเดินทางศึกษาดูงานกับ กฟผ.
แหล่งผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) และ Green Hydrogen ณ ประเทศจีน
ผศ.ดร.คเณศ คัจฉสุวรรณมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมเดินทางศึกษาดูงานแหล่งผลิตพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และ Green Hydrogen ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-17 ตุลาคม 2567 จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้เข้าศึกษาดูงาน ดังนี้
- Hainan Changjiang Nuclear Power Plant ณ เมืองฉางเจียง โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ACP100 ขนาด 125 เมกะวัตต์ พัฒนาและออกแบบโดย China National Nuclear Corporation (CNNC) คาดว่าจะแล้วแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569
- Yinggehai Solar Power Plant I ซึ่งเป็นทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และสถานีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่มีกำลังการผลิต 100MW และความจุในการกักเก็บพลังงาน 200MWh นับเป็นสถานีกักเก็บพลังงานแบบศูนย์รวมที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลไห่หนาน
- Hainan Fishery Photovoltaic Complementary Project ณ นคร Qionghai ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าได้เช่าพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกร เลี้ยงปลา โดยยังคงให้เกษตรกรเข้าไปเลี้ยงและจับปลาเพื่อประกอบอาชีพได้อยู่ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าและยังสามารถทำการเกษตรไปพร้อมกันได้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลอดอายุโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 25 ปีจะผลิตไฟฟ้าได้ 125,679,000 หน่วย จะช่วยลดการปล่อย CO, ได้ถึง 105,319 ตัน
- Qionghai Yinfeng Hydrogen Refueling Station ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท China Petroleum & Chemical Corporation (SINOPEC) ที่เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ร่วมกับ State Power Investment Corporation (SPIC) โดยเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนที่สามารถเติมได้ 500 kg ต่อวัน ที่ความบริสุทธิ์ 99.999%
นอกจากนี้ ผศ.ดร.คเณศ ยังได้ร่วมดูงานด้านศักยภาพในการพัฒนาเกาะไห่หนาน สู่เขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ซึ่งในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณรัฐประชาชนจีนมีสถานีเติมไฮโดรเจนมากกว่า 250 แห่ง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% ของจำนวนสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายที่จะมีสถานีเติมไฮโดรเจนมากกว่า 1,000 แห่งภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) และ 5,000 แห่งภายในปี 2035 (พ.ศ.2578) ซึ่งการขยายตัวนี้จะช่วยสนับสนุนการใช้ยานพาหนะเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการพัฒนาพลังงานสะอาดในระยะยาว